ผ่านวันเด็กแห่งชาติไปหมาด ๆ
แต่หลายฝ่ายยังแคลงใจเนื้อหาคำขวัญปีนี้
ชวนเชิญเด็กให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ผู้ใหญ่ในชาติบ้านเมืองยังทำไม่ได้
หรือไม่อยากจะทำ
แล้วเด็กจะเชื่อจะทำตามที่ชี้บอกได้อย่างไร
แค่ให้เด็ก “รักษาวินัย” ก็ล้มเหลวตั้งแต่พูดแล้ว
เพราะผู้ใหญ่พูดอย่างทำอย่าง

น่าสนใจข้อมูลจากศูนย์วิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เด็ก ๆ อยากได้อะไรจากผู้ใหญ่ในวันเด็กแห่งชาติ
ร้อยละ 60.0 ให้ทำดีให้เด็กดูก่อน อย่าโทษแต่เด็ก
ร้อยละ 57.9 ขอให้ผู้ใหญ่มีความซื่อสัตย์ เลิกคดโกง
ร้อยละ 56.2 ให้ช่วยกันพัฒนาประเทศไม่แบ่งฝ่ายไม่แตกแยก
ร้อยละ 56.0 ให้ช่วยกันทำให้สังคมไทยสงบสุข
ร้อยละ 55.2 ขอให้รับฟังและเข้าใจเด็กมากขึ้น
ร้อยละ 54.4 อยากให้ผู้ใหญ่เลิกทะเลาะกัน เลิกใช้ความรุนแรง
หรือจะพูดเป็นภาษาฟังง่ายเข้าใจไม่ยาก
อยากให้ผู้ใหญ่รัก หวังดี สนใจ เอาใจใส่...เด็ก ๆ
ไม่เฉพาะแค่ให้คำขวัญวันเด็กปีละครั้ง
แต่ให้รัก หวังดี สนใจ เอาใจใส่...ตัวผู้ใหญ่ก่อนอื่นหมด
แล้วเด็ก ๆ ก็จะได้รับสิ่งดีสิ่งสร้างสรรค์ในชีวิต
ไม่เพียงแค่วันเด็กแห่งชาติวันเดียวแต่ทั้งปีตลอดปี
มีความสุขกับชีวิตแต่ละวัน
โดยไม่ต้องเครียดกับเรื่องของผู้ใหญ่
มีความสดใสกับการใช้ชีวิตแต่ละวัน
โดยไม่ต้องเก็บกดกับความขัดแย้งของผู้ใหญ่
มีความหรรษาเริงรื่นตามวัย
โดยไม่ต้องมารับผลกระทบกับความรุนแรงของผู้ใหญ่
มีความรักใคร่ปรองดองประสาเพื่อน
โดยไม่ต้องถูกบังคับให้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งสีแบ่งฐานะ...

บทกวีอินเดียนี้น่าจะสรุปประเด็นได้ดีกว่าหมด
“เมื่อแม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง
ลูกเห็นแม่ติดรูปที่ลูกวาดไว้ที่ตู้เย็น
และทันทีลูกอยากจะวาดอีกรูป
เมื่อแม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง
ลูกเห็นแม่เลี้ยงแมวเร่ร่อน
และลูกเรียนรู้ว่าลูกควรใจดีกับสัตว์
เมื่อแม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง
ลูกเห็นแม่กำลังทำขนมที่ลูกชอบ
และลูกเรียนรู้ว่าสิ่งเล็กน้อยสามารถเป็นสิ่งพิเศษในชีวิตได้
เมื่อแม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง
ลูกเห็นแม่เตรียมอาหารและนำไปให้เพื่อนบ้านที่ป่วย
และลูกเรียนรู้ว่าเราต้องพิถีพิถันกับสิ่งที่เราให้ผู้อื่น
เมื่อแม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง
ลูกเห็นน้ำตาไหลรินจากตาแม่
และลูกเรียนรู้ว่ามีบางครั้งมีใครทำให้เราเสียใจ แต่เราร้องไห้ได้
เมื่อแม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง
ลูกกำลังเรียนรู้บทเรียนแห่งชีวิตที่ลูกต้องรู้
เพื่อจะเป็นคนดีและมีผลงานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
เมื่อแม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง
ลูกกำลังมองแม่และอยากจะบอกแม่ว่า
ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ลูกเห็นตอนที่แม่คิดว่าลูกไม่ได้มอง” •