ในเมื่อภาษาคือวัฒนธรรมที่ส่งทอดกันมา
คำพูดคำจาแต่ละคำจึงไม่ใช่เสียงที่เปล่งออกมา
หรือเพื่อการสื่อสารอย่างเดียว
หากแต่เป็นการสื่อคุณค่าที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมออกมาด้วย
แต่ละคำที่แต่งขึ้นมาใช้
จึงเต็มด้วยความพิถีพิถัน
สะท้อนความเป็นเชื้อชาติ
สะท้อนประวัติศาสตร์
สะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณี
สะท้อนความผูกพัน
สะท้อนจิตวิญญาณ...
การพูดการจาจึงเป็นการสื่อคุณค่าแห่งวัฒนธรรม
ควบคู่กับการสื่อสาร

ในวัฒนธรรมการสื่อสารทุกวันนี้
ส่วนใหญ่จะเน้นการสื่อเป้าหมาย
พร้อมกับวิธีการเพื่อจะบรรลุถึง
แล้วนั้นจะมี “สาร” ให้สื่อหรือไม่
ขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของผู้สื่อและผู้รับ
ยิ่งก้าวเข้าสู่โลกไร้พรมแดนแห่งการสื่อสาร
รูปแบบการสื่อสารก็เปลี่ยนไป
การสื่อสารแบบบุคลคลกับบุคคล
เปลี่ยนเป็นการสื่อสารกับใครก็ได้ที่สนใจจะสื่อด้วย
ก่อนนี้รู้จักมักคุ้นแล้วค่อยสานต่อด้วยการสื่อสาร
ตามด้วยพูดคุยแบบเขาแบบเรา แบบเธอแบบฉัน
แต่เดี๋ยวนี้สื่อสารไปก่อนแล้วค่อยรู้จัก
ใครก็ได้ที่สนใจ ใครก็ได้ที่อยากติดต่อด้วย
ไม่ต้องรู้ชื่อ รู้วัย รู้ที่มาที่ไป
กลายเป็นการสื่อสารระหว่าง “นิรนาม”  กับ “นิรนาม”
แต่ละคำที่ใช้สื่อก็เลยเป็นคำ “นิรนาม”  โดยปริยาย
หลายคำเลยมีความหมายมากกว่าเดิม
บางคำมีความหมายต่างจากเดิม
อีกไม่น้อยคำความหมายไม่เกี่ยวกับความหมายเดิมแม้แต่น้อย
พูดอย่างหนึ่ง หมายถึงอีกอย่างหนึ่ง
พูดเรื่องหนึ่ง หมายถึงอีกเรื่องหนึ่ง
หากสื่อสารกันแบบนี้ถูกคอ
ก็จะมีการให้ข้อมูลเพิ่ม...แบบกว้างๆ
พร้อมทั้งแอบสงวนข้อมูลลึกซึ้งส่วนตัวไว้เหนียวแน่น
เน้นเป้าหมายของการสื่อเสียส่วนใหญ่
พอฉันได้ เธอพอใจ เธอได้ ฉันพอใจ
ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายการสื่อสาร
ส่วนที่ได้นั้นจะเป็นคุณค่าด้านมนุษย์ ด้านวัฒนธรรม...หรือไม่
ไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญ

ในวัฒนธรรมการสื่อสารแบบนี้
ชนรุ่นใหม่จะหลุดลอยไปจากรากเง้าไปโดยไม่รู้ตัว
ไม่ว่าจะด้านเชื้อชาติ ด้านวัฒนธรรม ด้านศาสนา
ด้านคุณธรรม ด้านประเพณี...
เห็นได้ทั้งในวิธีการแต่งตัว การพูดจา และพฤติกรรม
“เรียงความ” “ย่อความ” จึงไม่เป็นแค่ปฏิรูปการศึกษา
หากแต่เป็นการย้อนรอยกลับสู่รากเง้า
วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ มรดกล้ำค่า
ผ่านทางภาษา ตัวอักษร คำ วลี สำนวน ภาษิต
กลับไปสู่ต้นตอ รากเหง้า ต้นกำเนิด...ครั้งแล้วครั้งเล่า •

 

 


 

 



-TOP-