อีกครั้งที่สังคมไทยต้องช่วยกันคิดช่วยกันรับผิดชอบ
โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องกระทบเด็กและเยาวชน
นอกจากจะมองว่าลูกหลานคืออนาคตของชาติแล้ว
ยังต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราท่านเป็นเราท่านทำส่งผลถึงชนรุ่นใหม่เต็มๆ
ในเมื่อแต่ละชั่วอายุคนต่างก็ส่งทอดต่อเนื่องกันไปเป็นมรดกตกทอด
แต่ละรุ่นพึงสำนึกและรับผิดชอบสิ่งที่ส่งต่อให้อีกรุ่น
การชี้นิ้วต่อว่าต่อขานรุ่นถัดไปก็คือการชี้นิ้วต่อว่ารุ่นตน
เพราะทุกอย่างเริ่มจากรุ่นเราก่อนสานต่อไปยังรุ่นเขานั่นเอง
ทุกครั้งชี้นิ้วว่าเด็กว่าเยาวชนมีอีกสามนิ้วชี้กลับเข้าตัวผู้ใหญ่ยุคนี้
จนต้องรู้สึกกระดากรีบร้อนหามาตรการเยียวยาแก้ไขกันให้วุ่น
ไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบแก้อย่างหนึ่งเพิ่มปัญหาให้อีกอย่าง
อย่างกรณีของเด็กนักเรียนตั้งครรภ์ระหว่างเรียนที่ตัวเลขเพิ่มน่าวิตก
พร้อมผลกระทบต่อการเรียนการศึกษาของแม่วัยเด็กที่ตามมา
จนมีความคิดผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์
“บังคับให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งทุกระดับ
ต้องอนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ระหว่างเรียน
ยังสามารถเรียนและเมื่อคลอดบุตรแล้วยังสามารถมาเรียนต่อได้”

มองผิวเผินก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
ยิ่งเมื่อดูตัวเลขจากงานวิจัยการละเมิดสิทธิการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นหญิง
ระหว่าง 13-22 ปีมีถึง 83.9% ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
กลุ่มอายุระหว่าง 19-22 ปี มีสัดส่วนเคยตั้งครรภ์มากที่สุด 24.9%
รองลงมาคือกลุ่มอายุระหว่าง 13-15 ปี 22.7% น่าห่วงเพราะเป็นวัยเรียน
และหากมองแง่ดีในความไม่ดีไม่เหมาะสมนี้ก็ถือรับได้ระดับหนึ่ง
แม่วัยเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ไม่คิดขจัดชีวิตใหม่ที่ถือกำเนิดมา
การมีโอกาสไปเรียนไปศึกษาเมื่อตั้งครรภ์ก็ถือว่าช่วยได้มาก
อย่างน้อยก็ไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่

แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปขณะแก้ปัญหาก็สร้างปัญหาขึ้นมา
หากดู “ตัวเลข” เด็กตั้งครรภ์เป็นตัวแปรในการแก้ปัญหาด้วย พ.ร.บ นี้
แทนที่จะลดจำนวนให้น้อยลงกลายเป็นเพิ่มจำนวนอย่างสิ้นสุด
หาก “ตัวเลข” ชี้บอกถึงความไม่ถูกต้องความผิดความไม่ชอบธรรม
การแก้ปัญหาน่าจะมุ่งไปที่การลดจำนวน “ตัวเลข” ดังกล่าวให้น้อยลง
เป็นการลดความไม่ถูกต้องความผิดความไม่ชอบธรรมให้ลดลง
ถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ถูกจุดแก้ปัญหาเพื่อให้หมดปัญหา
หากแก้ปัญหาแต่กลับทำให้ “ตัวเลข” ปัญหาบานปลาย
การแก้ปัญหาไม่ตรงจุดพยายามแก้ปัญหาแต่ทำให้ปัญหามากขึ้น
กลายเป็นว่าทั้งกฎหมายทั้งโรงเรียนส่งเสริมให้หญิงไทยไม่รักนวลสงวนตัว
ไม่ต้องพูดถึงผลเสียแก่ร่างกายของผู้เป็นแม่ที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์
เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดกระทบสุขภาพลูก
นอกนั้นไม่เพียงกายแต่ใจของแม่วัยเด็กยังไม่พร้อมอีกต่างหาก
ส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งตัวแม่ทั้งตัวลูก
คลอดลูกแล้วทิ้งภาระให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูกลายเป็นปัญหาสังคม

การตั้งครรภ์ในวัยเด็กวัยเยาวชนที่ยังไม่มีความพร้อมทั้งกายและใจ
น่าจะถือเป็น “อุบัติเหตุ” จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ปล่อยใจปล่อยกาย
จึงเป็นเรื่อง “กรณีพิเศษ” ไม่ใช่เรื่องปกติวิสัย
การแก้ไขเยียวยาน่าจะทำในฐานที่เป็น “อุบัติเหตุ” เป็น “กรณีพิเศษ”
เปิดโอกาสให้เด็กหยุดพักการเรียนเพื่อคลอดเลี้ยงดูลูกในช่วงแรก
ในเวลาเดียวกันก็พักฟื้นร่างกายและจิตใจจนเป็นปกติ
เมื่อพร้อมก็กลับเข้าเรียนต่อในระบบการศึกษา
หรือไม่ก็สามารถเลือกเรียน กศน. หรือมหาวิทยาลัยเปิด
ซึ่งน่าจะเป็นทางออกสำหรับกรณี “อุบัติเหตุ” หรือ “กรณีพิเศษ”
การพยายามดัน พ.ร.บ. คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์
เป็นการทำให้ “อุบัติเหตุ” และ “กรณีพิเศษ” กลายเป็นเรื่องปกติวิสัยไป •

 


 



-TOP-