คนไทยเคยให้ความสำคัญแก่ที่ต่ำที่สูง
          ไม่ใช่แค่ฐานะและตำแหน่งของบุคคลเท่านั้น
          แต่ในเรื่องของอวัยวะของร่างกายด้วย
          หัวถือว่าเป็นของสูง
          เฉพาะผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส เท่านั้นที่ลูบหัวได้
          เพื่อนคนใดถือวิสาสะ ต้องเป็นเพื่อนซี้กันมาก
          มิฉะนั้นเข้าข่ายลบหลู่ ดูถูก สบประมาท
          ถึงขนาดโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
          หรือไม่ก็เลิกคบหากันไปเลยก็มี
          แล้วต้องรีบยกมือกราบหัวตัวเอง
          เหมือนจะคืนศักดิ์ศรีให้หัวโดยเร็วพลัน...

          เท้าก็ถือกันว่าเป็นของต่ำ
          จะนั่งจะยืนจะนอนก็ต้องเก็บให้เข้าที่เข้าทาง
          เพราะถ้าเห็นฝ่าเท้าถือว่าไม่สุภาพ
          ไม่ต้องพูดถึงการยกฝ่าเท้าให้ใคร
          ถือว่าดูถูกเหยียดหยามเหมือนเหยียบติดพื้นทีเดียว
          ไม่ลงไม้ลงมือ ก็คงต้องเลิกคบหากันไปโดยปริยาย...

          ขนาดก้นก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวเมื่อเทียบกับหัว
           ของใช้นั่งกับของใช้หนุนต้องคนอย่างกัน
          จนต้องพูดหลอกเด็กให้กลัว
          “ ใครนั่งบนหมอน ฝีจะขึ้นก้น ”
          
ถึงเด็กจะอดสงสัยไม่ได้ว่า
          หมอนออกนุ่มทำไมถึงจะทำให้เกิดฝี
          แต่ก็ปลอดภัยไว้ก่อน ตามที่ผู้ใหญ่ชี้บอก …
          มายุคนี้คนไทยดูจะให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยลง
          ไม่เน้นความสูงความต่ำของหัว ก้น หรือเท้ากันเหมือนก่อน
          จะนั่ง จะยืน จะนอน ก็ไม่พิถีพิถันให้มากเรื่อง
          บางคนก็เอาถุงน่องมาสวมหัว ปิดหน้าปิดตา ตอนจี้ตอนปล้น
          อีกหลายก็เช็ดหน้าเช็ดตาเช็ดปากเช็ดก้นด้วยกระดาษประเภทเดียวกัน

          แค่กระดาษทิชชูม้วนเดียวใช้งานได้ทุกอย่าง
          
จะกินข้าวก็เอามาตั้งบนโต๊ะ
          ไว้เช็ดปาก เช็ดจาน เช็ดช้อน เช็ดโต๊ะ เช็ดเหงื่อ
          ถึงจะบรรจุมิดชิดอยู่ในกล่องทรงกลมหลากหลายสีสัน
          แต่ก็ไม่ได้ต่างจากที่แขวนไว้บริการในห้องน้ำ
          หรือที่มีไว้เช็ดคราบน้ำมันตามอู่ซ่อมรถ
          ม้วนเดียวใช้ได้ได้สารพัดอย่าง
          ม้วนเดียวใช้ได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า...

          หากเป็นแค่การใช้สอยกระดาษทิชชูก็ยังพอทำเนา
           แต่นี่มี “ วัฒนธรรมทิชชู ” ในพฤติกรรมของคนทุกวันนี้ด้วย
          ที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ “ ลำดับคุณค่า ” ในชีวิต
          สลับปรับเปลี่ยนลำดับคุณค่าจนสับสน
          ที่ก่อนนี้ถือว่าเป็นคุณค่าคู่ควรแก่การยกย่องเทิดทูน
          
เดี๋ยวนี้พากันถือเป็นเรื่องธรรมดา หรือไร้คุณค่า
          ที่ก่อนนี้ถือว่าเป็นเรื่องผิดมหันต์
          
เดี๋ยวนี้ถือว่าเรื่องทำได้ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
          ที่ก่อนนี้วัยขนาดนี้ไม่ควรแม้แต่จะคิด
          
เดี๋ยวนี้ถ้าไม่ลองไม่ทำ ถือว่าเชย หลุดโลก
          ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะประโยคเดียวใช้ได้หมดทุกกรณี
          พูด “ ใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น ” ก็เหมือนพูดคำว่า “ ทิชชู ”
          
ใช้อ้างได้หมด แก้ตัวได้สารพัดเรื่อง...โดยไม่ต้องรู้สึกผิดรู้สึกถูก

          อย่างนี้ที่สูงที่ต่ำ ที่ผิดที่ถูก ที่ควรไม่ควร...ยังจะมีให้เป็นมาตรฐานอีกหรือ? •

 

 



-TOP-