บ.สันติสุข

 

หนังสือเป็นพาหนะนำความคิด
แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์
หรือความคิดบ่อนทำลาย?

 

       ครับ ดอนบอสโกฉบับนี้มาถึงมือท่านผู้อ่านในบรรยากาศแห่งความเศร้าอาลัย อาลัยสำหรับการจากไปของนักเขียน นักทำหนังสือ นักส่งเสริมหนังสือที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง ผมหมายถึง คุณพ่อยอห์น อุลลิอานา อดีตคุณพ่อเจ้าวัดนักบุญยอแซฟ บ้านโป่ง

        คุณพ่อบุกเบิกงานด้านการพิมพ์ และการทำหนังสือ ตลอดจนนิตยสารคาทอลิกตั้งแต่สมัยที่สารสาสน์และอุดมพันธ์ต่างแข่งขันกันเข้าไปพบปะพี่น้องคริสตชนถึงบ้าน นิตยสารดอนบอสโกก็นับได้เหมือนกันว่าได้รับความเป็นมาจากความพยายามของคุณพ่อในสมัยการบุกเบิกการพิมพ์ ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็ทางอ้อม

       การจากไปของคุณพ่อจึงเป็นการสูญเสียนักเขียน และนักหนังสือที่สำคัญผู้หนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย

 

ยุคการตื่นตัว

       ปัจจุบันนี้ การพิมพ์และการทำหนังสือในประเทศของเรา อาจจะพูดได้ว่ากำลังตื่นตัว และก้าวไปสู่การพัฒนาปรับปรุงตนเองเป็นอย่างมาก เห็นได้จากเทคนิคใหม่ๆ ในการพิมพ์และการเข้าเล่ม ตลอดจนศิลปะในการออกรูปปกและหัวเรื่อง ฯลฯ อาจจะพูดได้ว่า เราไม่น้อยหน้าการพิมพ์การทำหนังสือในต่างประเทศเขา

       ท่านผู้อ่านลองเดินผ่านแผงขายหนังสือดูสักครั้ง ก็คงจะต้องเห็นด้วยกับผม หนังสือมีเกลื่อนกลาด สนนราคาต่างกันไป จุดยืนและเนื้อหาก็สารพัด ประเภทนั้นก็ร้อยแปด เรียกว่าหาซื้ออ่านกันไม่หวาดไหว หากมีเงินซื้อ

       แต่ถ้ามาพูดถึงคุณค่าและประโยชน์แล้ว นั่นเป็นอีกเรื่อง ไม่ใช่ทุกเล่มอ่านแล้วได้รับประโยชน์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทุกเล่มช่วยสร้างสรรค์และน่าเสียดาย ไม่ใช่ทุกเล่มช่วยส่งเสริมศีลธรรมจรรยา ตลอดจนธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เพราะจุดยืนและแรงจูงใจของการจัดทำหนังสือหรือนิตยสารหลายเล่มอยู่ที่รายได้และผลกำไร มากกว่าที่จะเป็นอย่างอื่น

       เป็นธรรมดาของร้านอาหารต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสวนหรูหรา หรือเพิงติดถนน ต่างสรรหา ค้นคว้า ปรุงแต่งอาหารที่ถูกปากถูกคอลูกค้า เพราะนั่นหมายถึงการอยู่รอดและผลกำไรของร้านอาหารและคนเข้าร้านคับคั่ง

 

อ่านเหมือนกิน

       หนังสือ ถ้าจะว่ากันแล้ว ก็เป็นอาหารสมองคนเรา เพราะนอกจากจะให้ความรู้ เสริมทักษะแล้วยังให้ความเพลิดเพลินหย่อนสมองอีกด้วย ผู้จัดทำหนังสือก็เหมือนกับคนครัวที่ต้องขวนขวายปรุงแต่งรสชาติให้ถูกอกถูกใจ ถูกความต้องการ ถูกความชอบพอของผู้อ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะนั่นหมายถึงความนิยมชมชอบ ผลกำไร และยอดจำหน่าย... ทว่า เมื่อมองดูผู้อ่านส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่บุคคลที่ชอบเรื่องส่งเสริมจิตใจ ยกระดับศีลธรรม หรือจรรโลงความดี นั่นหมายความว่าไม่ใช่หนังสือทุกเล่มที่อ่านแล้วให้คุณค่า ยังประโยชน์ ยกจิตใจคนให้สูง

       การตัดสินคุณค่าของหนังสือ หรือนิตยสาร จึงไม่อยู่ในความนิยม หรือยอดจำหน่ายสูงหรือคนอ่านกันแพร่หลายเกลื่อนกลาด เพราะอาหารรสดี อร่อยถึงใจ ไม่หมายความว่าจะเป็นอาหารที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพเสมอไป ไม่น้อยครั้งที่ตรงกันข้ามเลยทีเดียว

       แม้การอ่านจะเป็นเหมือนการทานอาหารในแง่ของการเป็นอาหารก็จริง แต่ก็ไม่เหมือนการทานอาหารในแง่ความเหมาะสม

       ในการทานอาหาร เราพิถีพิถันแบ่งแยกอาหารที่เหมาะสำหรับเด็ก และอาหารที่ผู้ใหญ่เขาทานกัน การปรุงแต่งก็ต้องคำนึงถึงผู้ทานด้วย จึงจะถูกกิจลักษณะ คนป่วยก็ทานอาหารประเภทหนึ่ง เด็กวัยต่าง ๆ ก็ทานอาหารต่างกันไป คนสูงอายุอาหารก็อีกอย่าง ฯลฯ พูดแบบง่ายๆ อาหารจะต้องคล้อยตามความต้องการของผู้ทาน

 

อ่านไม่เหมือนกิน

       แต่ในวงการหนังสือ การปรุงแต่งเนื้อหานั้น ผู้ปรุงแต่งจะคำนึงถึงสภาพ วัย หรือฐานะของผู้อ่านเสมอไปหรือเปล่า หรือมุ่งแต่จะปรุงแต่ง ใส่รสชาติเข้าไปให้เข้มข้น ถึงใจพระเดชพระคุณโดยไม่เคยฉุกคิดสักน้อยนิดว่า หนังสือนี้จะตกถึงมือผู้ใหญ่ วัยรุ่น เด็ก ซึ่งแต่ละคน แต่ละวัยมีความต้องการและพื้นเพ ตลอดจนความพร้อมไม่เหมือนกัน จึงเข้าทำนองตรงข้ามกับอาหารการกิน คือ คนต้องคล้อยตามความต้องการของคนทำหนังสือไปอย่างน่าเสียดาย และน่าเป็นห่วง

       เด็กสมัยของเรานี้เป็นนักอ่านและมักจะอ่านหนังสือทุกเล่มที่ตกถึงมือหรือมือไขว่คว้ามาได้อย่างไม่มีการเลือก ยิ่งคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์บอกแนะว่าหนังสือเล่มนี้ นิตยสารฉบับนั้นสำหรับผู้ใหญ่เขา ก็ยิ่งเหมือนยุให้อ่าน อ่านอย่างเปิดเผยไม่ได้ก็แอบขโมยอ่าน และเช่นนี้เราท่านคงจะเห็นถึงผลเสียที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เหมือนคนป่วยไปทานอาหารของคนปรกติ เด็กทานอาหารคนใหญ่ คนสูงอายุทานอาหารคนหนุ่มสาว...

 

เพื่อนคู่คิด

       หนังสือเป็นเพื่อนยามเหงา ยามไม่มีอะไรทำ หรือไม่รู้ว่าจะทำอะไร เป็นเพื่อนเดินทาง เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นครู เป็นที่ปรึกษา เป็นดวงประทีป เป็นเพื่อนคู่คิด...

       เป็นเพื่อนคู่คิด ใช่ แต่ไม่ใช่คิดแทนเรา เพราะหนังสือเป็นแค่พาหะสื่อความคิด สิ่งนี้เราท่านไม่ค่อยจะได้สำเหนียกนัก การอ่านหนังสือเป็นการเปิดแนวความคิดของผู้อ่านให้กว้างออกไป ช่วยให้เห็นสิ่งต่าง ๆ จากหลายแง่คิด และตัดสินเหตุการณ์จากมุมต่าง แต่คนที่คิดและตัดสินจะต้องเป็นเราท่าน ที่เป็นคนอ่าน

       ถ้าวันใดที่เราท่านมารู้ตัวว่าหนังสือคิดให้หมด หนังสือตัดสินให้ทุกอย่าง หนังสือบอกแนวชีวิตการปฏิบัติไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยไปทุกอย่าง... เมื่อนั้นพึงสำเหนียกไว้ว่า ไม่ใช่เราท่านที่อ่านหนังสือ แต่เป็นหนังสือที่กำลังอ่านเราเสียแล้ว

       ท่าทีที่ถูกต้องในการอ่านจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้หนังสืออ่านเรา และบัญชาความนึกคิดตลอดจนการตัดสินคุณค่าของเรา

       เด็กอยู่ในวัยที่พร้อมจะรับทุกสิ่งทุกอย่าง ท่าทีการอ่านของเด็กจึงเป็นเหมือนการทานอาหารทั้งเนื้อทั้งกระดูก ทั้งเนื้อทั้งเปลือกยังขาดการแยกแยะ เลือกสรร ดูความเหมาะสม หรือคุณค่า และเนื่องจากว่าในสภาพของสังคมในปัจจุบัน เป็นการยากที่ห้ามสิ่งมีพิษมีภัยเข้ามาในบ้านในครอบครัวแฝงอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะวิทยุ โทรทัศน์ วีดีโอ หนังสือ นิตยสาร... ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสำเหนียกถึงความสำคัญของการอบรมตัวเราเองและให้การอบรมแก่เด็ก ๆ ของเขา ถึงทีท่าที่ถูกต้องในการใช้สื่อมวลชนเหล่านี้ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้กลับเป็นเพื่อนคู่คิดที่แท้จริง


 

 

 

          

         


 



-TOP-